สารคดี "ข้าวไทย"

การค้าข้าว

ผลิตภัณฑ์จากข้าว

การบริโภคข้าว

พันธุ์ข้าวไทย

เครื่องมือเครื่องใช้ในการทำนา

การทำนา

ชนิดของข้าว

พิธีกรรม ความเชื่อเกี่ยวกับข้าว

ประเทศไทย มีลักษณะของผู้คนที่อยู่อย่างกระจายไม่หนาแน่น ดังนั้น ลักษณะของความเชื่อที่พบในสังคมไทยจะไม่ได้มีลักษณะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในแง่ที่ว่าแต่ละภูมิภาคก็มีระบบความเชื่อของตัวเอง ภาคใต้มีวิธีการกำจัดหรือแก้ปัญหาเรื่องการทำนาของตัวเองแบบหนึ่ง ทางอีสานก็อีกแบบหนึ่ง ผู้ที่ปกครองบ้านเมืองจะทำอย่างไร จึงจะรวมหรือสร้างบูรณาการให้ผู้คนที่เต็มไปด้วยชนเผ่าต่างๆ ที่หลากหลายนี้ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ ก็จำเป็นต้องมีระบบความเชื่อที่มีอิทธิฤทธิ์ มีประสิทธิภาพที่สามารถจะเอาชนะหรือสร้างความเคารพยอมรับจากชนเผ่าต่าง ๆ ได้ เมื่อสังคมพัฒนาเป็นบ้านเป็นเมือง จนกระทั่งทุกวันนี้ลักษณะของพิธีกรรมเกี่ยวกับข้าวก็เป็นเรื่องที่ผสมผสานระหว่างพิธี ทั้งพุทธซึ่งมีการนิมนต์พระสงฆ์มาสวด ทำบุญทำทาน และก็มีพิธีพราหมณ์ ซึ่งเอาข้าวเข้ามาเพื่อสร้างความอลังการ ความศักดิ์สิทธิ์ ความน่าเชื่อถือให้กับราชสำนัก และพิธีกรรมอันนี้เองที่ส่งผลอิทธิพล และสะท้อนกลับไปยังความเชื่อของชาวบ้านอีกต่อหนึ่ง จะเห็นว่าพิธีกรรมเกี่ยวกับข้าวในปัจจุบันนี้ จะเป็นเรื่องราวความเชื่อที่ค่อนข้างผสมผสานกันระหว่างความเชื่อในเรื่องของผี ความเชื่อท้องถิ่น ความเชื่อในเรื่องพุทธศาสนาและศาสนาฮินดูด้วย

"แถน" เป็นเทพดั้งเดิมของชนเผ่าไท ผีที่มีอิทธิพลต่อการทำมาหากิน ต่อความเป็นอยู่ของผู้คน เพราะว่าเป็นผู้ที่สร้างทุกสิ่งทุกอย่างในโลกไม่ว่าจะเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ทุกอย่าง พระยาแถนเป็นผู้สร้าง อิทธิพลของพระยาแถนมีมากมายเหลือเกิน จึงทำให้ผู้คนกลัวมากและเมื่อมีปัญหาอะไรก็รู้ว่าสาเหตุที่จะปัดเป่าได้คือต้องไปขอให้พระยาแถนช่วย เพราะฉะนั้นพิธีที่สำคัญมากต่อการทำมาหากินและการปลูกข้าวของคนไทยหรือคนถิ่นไทยลาว คือ พิธีจุดบั้งไฟ เพื่อส่งสารไปถึงพระยาแถน ขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลพิธีกรรมในประเพณีจุดบั้งไฟ เป็นพิธีที่ไม่สามารถทำขึ้นโดยคนเพียงไม่กี่คน แต่เป็นเรื่องของคนทั้งชุมชนทั้งสังคมต้องให้ความร่วมมือ ร่วมใจกันที่จะแก้ปัญหาวิกฤตในสังคมตัวเองและบทบาทของพิธีกรรมนี้ไม่ใช่ เพียงแต่จะบันดาลให้ฝนตกมาได้ตามความเชื่อของท้องถิ่น แต่มีความหมายอีกมากมายต่อความเป็นอยู่ของชุมชนของสังคมข้าวในสังคมไทย พิธีกรรมมีความสำคัญต่อการสร้างจิตสำนึกความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การสร้างจริยธรรม คุณธรรมของท้องถิ่นโดยผ่านพิธีกรรมต่างๆ
 

พระแม่โพสพ                                                           ประเพณีบุญบั้งไฟ

นอกจากพิธีจุดบั้งไฟที่แสดงให้เห็นถึงความเดือดร้อนของผู้คน ที่จำเป็นต้องขออำนาจจากพระยาแถนช่วยเหลือแล้ว ความอ่อนน้อมของคนไทยที่มีต่ออำนาจเหนือธรรมชาติ จะเห็นได้จากการเรียกชื่อสิ่งที่มีความสำคัญต่าง ๆ ด้วยคำว่า แม่ เช่น ข้าวก็จะมีคำว่า "แม่โพสพ" เป็นเทพธิดาแห่งข้าว แม่นั้นเป็นผู้ให้กำเนิด เป็นผู้ที่มีบทบาทสูงที่สุดในครอบครัวและสิ่งที่มีคุณประโยชน์ทั้งหลายในสังคมไทยนั้น มักจะใช้คำว่าแม่เป็นคำเรียกชื่อไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำ แม่ธรณี ฯลฯ การใช้คำว่า "แม่" เรียกข้าวก็คือเป็นการให้การยกย่องมากที่สุด ข้าวมีความสำคัญก็เพราะว่าข้าวเป็นผู้ให้ชีวิตแก่มนุษย์ เพราะฉะนั้น หน้าที่ที่มนุษย์ต้องตอบแทนคือมนุษย์ต้องเลี้ยงดูฟูมฟักเลี้ยงดูข้าวด้วย ข้าวมีขวัญข้าว ซึ่งเหมือนกับมนุษย์ที่ยังมีชีวิตอยู่ ต้องมีขวัญ ขวัญนั้นสามารถที่จะกระทบกระเทือนเจ็บไข้ได้ป่วยหรือไม่พึงพอใจได้ เพราะฉะนั้นถ้าต้องการให้อยู่ดีมีสุข ต้องเอาอกเอาใจขวัญของข้าว

พิธีกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับข้าวก็จะเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับความเชื่อเรื่องแม่โพสพซึ่งเชื่อว่าเป็นเทพีที่คอยดูแลรักษาพืชพันธุ์ ธัญญาหารต่างๆ ให้อุดมสมบูรณ์ แม่โพสพก็เหมือนกับมนุษย์ที่ต้องการความเอาใจใส่เหมือนบุคคลทั่วๆ ไปมนุษย์ต้องคอยดูแลแม่โพสพเหมือนดูแลตัวเอง ต้องมีความกตัญญู ต้องเคารพนับถือ มีกิริยาที่สุภาพเรียบร้อยจะพูดจาหยาบคายหรือพูดเสียงดังไม่ได้ แม่โพสพเป็นคนขวัญอ่อนเพราะถ้าเกิดไม่พอใจจะหนีไปเลยและตามประวัติเคยหนีไปหลายครั้งด้วยความน้อยใจ เวลามีคนพูดเสียงดังพอหนีไปที ก็อดอยากกันเป็นพันปี เพราะฉะนั้นอันนี้ เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังมาก เวลาติดต่อกับแม่โพสพควรใช้ความสุภาพอ่อนโยน และความกตัญญูกตเวทีอย่างสูงที่สุด

พิธีกรรมเกี่ยวกับแม่โพสพ ก็มีขั้นตอนต่างๆ พิธีในภาคกลางจะเห็นว่าจะดำนา จะไถ อะไรก็ต้องเชิญแม่โพสพมาก่อน ตั้งแต่ข้าวเริ่มตั้งท้องก็ต้องไปเอาอกเอาใจหาอาหาร เปรี้ยวหวาน มันเค็ม ไปบูชาแม่โพสพ หรือว่าเมื่อเสร็จแล้วจะนวดจะเอาข้าวเข้ายุ้งทุกอย่างนี้จะต้องมีพิธีกรรมเข้าไปประกอบเพื่อก่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์หรือ ความมั่นใจว่าปีนี้มีข้าวและปีหน้าต้องมีนะ หรือว่าพันธุ์ข้าวที่มีต้องเก็บไว้และทำอย่างไรให้เก็บได้ดี ไม่เสียไม่หาย เพื่อที่จะใช้เป็น พันธุ์ในปีต่อไป ลักษณะของพิธีกรรมเรื่องข้าวส่วนใหญ่ก็จะเกี่ยวข้องกับการที่จะพยายามเอาอกเอาใจขวัญของข้าว โดยมีแม่โพสพเป็นตัวแทน

 

          ทำขวัญข้าว                                           ของไหว้แม่โพสพ                                   เฉลวขวัญข้าว

การทำพิธีกรรมเกี่ยวกับข้าว นอกจากในสังคมที่เป็นบ้านเป็นเมืองอย่างสังคมไทยแล้ว จะเห็นว่าในสังคมอื่นๆ ที่ยังไม่ได้พัฒนาเป็นบ้านเป็นเมือง การทำไร่ ทำข้าวไร่ ก็มีพิธีกรรมเหมือนกันในการที่จะดูแลข้าวของตัวเอง อย่างเช่นในกลุ่มชาวเขา เขาก็มีพิธีกรรมเวลาปลูกข้าวไร่ เขาจะมีวันที่วันไหนจะไปเผาไร่ได้ วันไหนเผาไม่ได้ เวลาข้าวตั้งท้องต้องรู้ว่าจะทำอย่างไร เขาถือว่าช่วงข้าวตั้งท้องหรือช่วงข้าวเกี้ยวพาราสี เขาจะบอกว่าห้ามไปไร่ในช่วงนั้น เพราะว่าข้าวกำลังเกี้ยวพาราสีกัน หรือเวลาข้าวตั้งท้องก็จะต้องหาเงินไปผูกเอาไว้ ต้องผูกเตี้ยๆ ด้วย เพราะว่าแม่ข้าวเขาตัวเตี้ย จะได้เก็บเงินไปได้ถ้าเกิดไม่เอาเงินหรือเอากระดาษไปผูกเป็นรูปเงินให้แล้ว อาจจะไม่ดลบันดาลให้ข้าวอุดมสมบูรณ์ก็ได้ ฉะนั้น ในกลุ่มทุกกลุ่มหรือแม้แต่พวกขิ่นก็มีความเชื่อเรื่องการปลูกข้าวเหมือนกัน

ก่อนการปลูกข้าว ก็มีการสร้างตูบผีเอาไว้ เชิญผีซึ่งเคยอยู่ที่ท้องนาขึ้นมาอยู่บนตูบ เวลาจะไถจะได้ไม่รังควานผี มีการเซ่นไหว้ เวลาจะหยอดข้าวก็ต้องเรี่ยไรเงิน มาซื้อหมูฆ่าหมูมาเซ่นผี มาเอาใจผีอีก เพราะว่าถ้าผีไม่พอใจปลูกข้าวแล้วจะมีผลเสีย หรือถ้าหากว่าจะทำสู่ขวัญข้าวก็ต้องทำพิธีเลี้ยงผีอีก ก็ต้องไปซื้อสัตว์เรี่ยไรกันเอาเงินมาฆ่าเอาสัตว์มาสังเวยและจะปิดตาเหลวเอาไว้ ตาเหลวเป็นสัญลักษณ์ของการป้องกันและบอกขอบเขต ไม่ให้สัตว์ป่าต่างๆ มาทำลายข้าวในไร่ จะเห็นว่ามีกฎหมายลงโทษคนที่ไปทำมิดีมิร้าย ไปขี้ไปเยี่ยว ช้าง ม้า วัว ควาย ไปละเมิดทำให้ไร่นาข้าวปลาเสียหาย มีกฎหมายบัญญัติไว้ว่า ให้ทำบัตรพลีดีไหว้หรือว่าต้องเซ่นไหว้ เพราะไม่ใช่เพียงแต่ว่าเป็นการลงโทษคนที่ละเมิดทำข้าวเสียหายเท่านั้น แต่ว่าเป็นลักษณะของความอุบาทว์หรือสิ่งที่ทางเหนืออาจเรียกว่า "ขึด" คือถ้าเผื่อว่าทำแล้วมันเสียหายแก่ท้องนาแก่ข้าวแล้วไม่ใช่เพียงแต่ว่าคนคนนั้นหรือเจ้าของนาจะเดือดร้อน แต่ว่าจะก่อให้เกิดความอุบาทว์หรือวิปริตไปทั้งหมดได้ เพราะฉะนั้นเพื่อกันความเสียหายของชุมชนจะต้องทำการบัตรพลีดีไหว้ อันนี้เป็นกฎหมายตราไว้เลย

จุดกำเนิดพิธีกรรมต่างๆ

     ถ้าจะพูดถึงพิธีกรรมที่เกี่ยวกับข้าวในสังคมไทย อาจพูดได้ว่าหมายถึงพิธีกรรมเกือบทั้งหมดในสังคมไทยทีเดียว เพราะพิธีกรรมที่มีความหมายและมีความสำคัญต่อชีวิตของคนไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวไร่ชาวนานั้น ที่สำคัญที่สุดก็คือ พิธีกรรมที่เกี่ยวกับการทำมาหากิน และการทำมาหากินของคนไทยในสังคมไทยนั้น ตั้งแต่อดีตก็คือการทำเกษตรกรรม การเพาะปลูก ซึ่งก็ไม่พ้นการทำไร่ทำนานั่นเอง

     จุดมุ่งหมาย ความหมาย และความสำคัญของพิธีกรรมที่เกี่ยวกับข้าวหรือเกี่ยวกับการเพาะปลูกก็คือ เพื่อความอุดมสมบูรณ์ ดังนั้น พิธีกรรมทั้งหมดหรือจุดประสงค์หลักของพิธีกรรมที่เกี่ยวกับข้าวจะแสดงให้เห็นถึงวิธีการแก้ไขปัญหาของชาวบ้าน ที่สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาของชาวบ้านในการเผชิญกับปัญหาเรื่องปากเรื่องท้อง เรื่องความอยู่รอดของชาวบ้านนั่นเอง พิธีกรรมดั้งเดิมของสังคมไทยก่อนการรับพุทธศาสนาหรือศาสนาฮินดูเข้ามานั้น ก็คงเป็นเรื่องของความพยายามจะติดต่อกับอำนาจเหนือธรรมชาติหรือว่าผีนั่นเอง โดยเชื่อว่าผีมีอิทธิพลเหนือผลผลิตและต่อสภาพแวดล้อม ซึ่งอาจจะเรียกว่าใช้วิธีการทางไสยศาสตร์

     ต่อมาเมื่อมีการรับพุทธศาสนาเข้ามาแล้วก็มีการผสมผสานกัน จนพิธีกรรมที่เป็นของชาวบ้านหลายๆ วิธีได้มีการปรับรับไปเป็นพระราชพิธี นอกจากนั้นจะเห็นว่า พิธีกรรมที่เกี่ยวกับข้าวทั้งหมดนั้น จริง ๆ แล้วเป็นพิธีที่ทำขึ้นตามฤดูกาลซึ่งสัมพันธ์กับการเพาะปลูก ปัญหาใหญ่ที่สุดของการทำนาคือปัญหาเรื่องน้ำฝน เพราะว่าการทำนาในสังคมไทยในอดีตนั้นเป็นนาน้ำฝน เป็นนาที่จำเป็นต้องพึ่งพิงกับธรรมชาติดินฟ้าอากาศ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนและมนุษย์ไม่สามารถจะควบคุมได้ เพราะฉะนั้น จำเป็นต้องอาศัยอำนาจลึกลับไสยศาสตร์เรียกผีสางเทวดาให้มาช่วยปัดเป่าขจัดภัยอันตรายต่างๆ และวิธีการที่ทำกันก็คือ พยายามเอาอกเอาใจด้วยการเลี้ยงดูเอาใจ เซ่นการไหว้ภูตผีหรืออำนาจลึกลับเหนือธรรมชาติต่างๆ

     พิธีกรรมที่เกี่ยวกับข้าวมีความสำคัญต่อชาวบ้านมากที่สุด เพราะเกี่ยวข้องกับการทำมาหากินเลี้ยงชีพ พิธีกรรมข้าวจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดปีตามลำดับการเพาะปลูกข้าว โดยช่วงที่สำคัญที่สุดจะอยู่ระหว่างหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตและก่อนเริ่มฤดูกาลใหม่ พิธีกรรมข้าวมี 4 ขั้นตอน ดังต่อไปนี้
พิธีกรรมก่อนการเพาะปลูก มีวัตถุประสงค์เพื่อบวงสรวง บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือบรรพบุรุษให้คุ้มครองป้องกันภยันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน ให้มีความสวัสดิมงคล มีความอุดมสมบูรณ์ ขอโอกาสและความเชื่อมั่นในการดำรงชีวิตในรอบปีนั้น ๆ อาทิ พิธีเลี้ยงขุนผีขุนด้ำ พิธีแห่นางแมว เทศน์พญาคันคาก สวดคาถาปลาช่อน พิธีปั้นเมฆ พิธีบุญบั้งไฟ พิธีบุญซำฮะ
พิธีกรรมช่วงเพาะปลูก มีเป้าหมายเพื่อบวงสรวงบนบาน บอกกล่าว ฝากฝังสิ่งที่เกี่ยวข้องกับข้าวหรือการเพาะปลูกแก่เทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขอให้การเพาะปลูกข้าวดำเนินไปได้ด้วยดี ปราศจากอันตรายต่างๆ อาทิ พิธีแรกไถนา พิธีเลี้ยงผีตาแฮก ตกกล้า พิธีแรกดำนา พิธีปักข้าวตาแฮก พิธีปักกกตาแฮก
พิธีกรรมเพื่อการบำรุงรักษา เพื่อให้ข้าวงอกงาม ปลอดภัยจากสัตว์ต่างๆ หนอนเพลี้ย พิธีกรรมประเภทนี้ จัดขึ้นในช่วงระหว่างการเพาะปลูกจนกระทั่งเก็บเกี่ยว อาทิ พิธีไล่น้ำ พิธีปักตาเหลว พิธีสวดสังคหะ พิธีรับขวัญแม่โพสพ พิธีไล่หนู ไล่นก ไล่เพลี้ย ไล่แมลง และอื่นๆ โดยใช้น้ำมนต์ ผ้ายันต์ ภาวนาโดยหว่านทราย หรือเครื่องราง
พิธีกรรมเพื่อการเก็บเกี่ยว-ฉลองผลผลิต เพื่อให้ได้ผลผลิตมาก และเพื่อแสดงความอ่อนน้อมกตัญญูต่อข้าว ตลอดถึงสิ่งที่เกี่ยวข้อง พิธีกรรมประเภทนี้ จัดขึ้นในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว อาทิ พิธีรวบข้าว พิธีแรกเกี่ยวข้าว พิธีเชิญข้าวขวัญ พิธีวางข้าวต๋างน้ำ พิธีปลงข้าว พิธีขนข้าวขึ้นยุ้ง พิธีตั้งลอมข้าว พิธีปิดยุ้ง พิธีเปิดยุ้งภาพเขียนที่ผนังถ้ำที่ผาแต้ม

จุดกำเนิดและประวัติข้าวไทย


     พันธุ์ข้าวที่มนุษย์เพาะปลูกในปัจจุบันพัฒนามาจากข้าวป่าในตระกูล Oryza gramineae สันนิษฐานว่า พืชสกุล Oryza มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนชื้นของทวีป Gondwanaland ก่อนผืนดินจะเคลื่อนตัวและเคลื่อนออกจากกันเป็นทวีปต่าง ๆ เมื่อ230-600 ล้านปีมาแล้วจากนั้นกระจายจากเขตร้อนชื้นของแอฟริกา เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ ออสเตรเลีย อเมริกากลางและใต้ ข้าวสามารถเจริญเติบโตได้ตั้งแต่ความสูงระดับน้ำทะเลถึง2,500เมตรหรือมากกว่า ทั้งในเขตร้อนและเขตอบอุ่น ทั้งในที่ราบลุ่มจนถึงที่สูง ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่เส้นรุ้งที่ 53 องศาเหนือถึง 35 องศาใต้ มนุษย์ได้คัดเลือกข้าวป่าชนิดต่างๆ ตามความต้องการของตน เพื่อให้สอดคล้องกับระบบนิเวศน์ มีการผสมพันธุ์ข้ามระหว่างข้าวที่ปลูกกับวัชพืชที่เกี่ยวข้อง เกิดข้าวพื้นเมืองมากมายหลายสายพันธุ์ ซึ่งสามารถให้ผลผลิตสูง ปลูกได้ตลอดปี ก่อให้เกิดพันธุ์ข้าวปลูกที่เรียกว่า ข้าวลูกผสมซึ่งมีปริมาณ120,000 พันธุ์ทั่วโลก ข้าวที่ปลูกในปัจจุบันแบ่งออกเป็นข้าวแอฟริกาและข้าวเอเชีย
     ข้าวแอฟริกา (Oryza glaberrima) แพร่กระจายอยู่เฉพาะบริเวณเขตร้อนของแอฟริกาเท่านั้น สันนิษฐานว่าข้าวแอฟริกาอาจเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อประมาณ 1,500 ปีก่อนคริสตศักราช
     ข้าวเอเชีย เป็นข้าวลูกผสม เกิดจาก Oryza sativa กับข้าวป่า มีถิ่นกำเนิดบริเวณประเทศอินเดีย บังคลาเทศ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปลูกกันอย่างแพร่หลายตั้งแต่อินเดีย ตอนเหนือของบังคลาเทศ บริเวณดินแดนสามเหลี่ยมระหว่างพม่า ไทย ลาว เวียดนาม และจีนตอนใต้

    : ข้าวเอเชียแบ่งออกเป็น 3 สายพันธุ์ :     ข้าวสายพันธุ์แรกเรียกว่าสายพันธุ์ Senica หรือ Japonica ปลูกบริเวณแม้น้ำเหลืองของจีน แพร่ไปยังเกาหลีและญี่ปุ่น เมื่อประมาณ 300 ปีก่อนคริสต์ศตวรรษ เป็นข้าวเมล็ดป้อม
     ข้าวสายพันธุ์ที่สอง เรียกว่า Indica เป็นข้าวเมล็ดยาวปลูกในเขตร้อนแพร่สู่ตอนใต้ของอินเดีย ศรีลังกา แหลมมาลายู หมู่เกาะต่าง ๆ และลุ่มแม่น้ำแยงซีของจีนประมาณคริสต์ศักราช 200
     ข้าวสายพันธุ์ที่สาม คือ ข้าวชวา (Javanica) ปลูกในอินโดนีเชีย ประมาณ 1,084 ปีก่อนคริสต์ศักราช จากนั้นแพร่ไปยังฟิลิปปินส์และญี่ปุ่น ในข้าวเอเชียแพร่เข้าไปในยุโรปและแอฟริกา สู่อเมริกาใต้ อเมริกากลาง เข้าสู่สหรัฐอเมริกาครั้งแรกประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 17 โดยนำเมล็ดพันธุ์ไปจากหมู่เกาะมาดากัสกา

Oryza sativa
     ในเบื้องแรก มนุษย์ค้นพบวิธีปลูกข้าวแบบทำไร่เลื่อนลอย ดังปรากฏหลักฐานในวัฒนธรรมลุงซาน ประเทศจีนและวัฒนธรรมฮัวบิเนียน ประเทศเวียดนาม เมื่อประมาณ 10,000 ปีมาแล้ว ต่อมามนุษย์ค้นพบการทำนาหว่าน ดังปรากฏหลักฐานในวัฒนธรรมยางเชา บริเวณลุ่มแม่น้ำเหลือง ในวัฒนธรรมลุงซาน ประเทศจีนและวัฒนธรรมฮัวบิเนียน ประเทศเวียดนาม เมื่อ 5,000 - 10,000 ปีมาแล้ว ภูมิปัญญาด้านการปลูกข้าวพัฒนาสู่การปักดำ พบหลักฐานในวัฒนธรรมบ้านเชียงประเทศไทย เมื่อไม่ต่ำกว่า 5,000 ปีมาแล้ว ในประเทศไทย เมล็ดข้าวที่เก่าแก่ที่สุดที่พบมีลักษณะคล้ายข้าวปลูก ของชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์อายุราว3,000 - 3,500 ปีก่อนคริสต์ศักราช ได้แก่ รอยแกลบข้าว ซึ่งเป็นส่วนผสมของดินที่ใช้ปั้นภาชนะดินเผาที่โนนนกทา ตำบลบ้านโคก อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น เป็นหลักฐานที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าเก่าแก่ที่สุด คือ ประมาณ 3,500 ปีก่อนคริสต์ศักราช หลักฐานอื่น ๆ ที่แสดงให้เห็นว่าสยามประเทศเป็นแหล่งปลูกข้าวมาแต่โบราณ อาทิ เมล็ดข้าวที่ขุดพบที่ถ้ำปุงฮุง จังหวัดแม่ฮ่องสอน แสดงว่ามีการปลูกข้าวในบริเวณนี้เมื่อ 3,000 - 3,500 ปีก่อนคริสต์ศักราชหรือราว 5,400 ปีมาแล้ว แกลบข้าวที่ถ้ำปุงฮุงมีทั้งลักษณะของข้าวเหนียวเมล็ดใหญ่ที่เจริญงอกงามอยู่ในที่สูง เป็นข้าวไร่และข้าวเจ้า แต่ไม่พบลักษณะของข้าวเหนียวเมล็ดป้อมหรือข้าวพวก Japonica เลย แหล่งโบราณคดีที่บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี พบรอยแกลบข้าวผสมอยู่กับดินที่นำมาปั้นภาชนะดินเผา กำหนดอายุได้ใกล้เคียงกับแกลบข้าวที่ถ้ำปุงฮุง คือ ประมาณ 2,000 - 3,500 ปีก่อนคริสต์ศักราช ลักษณะเป็นข้าวเอเชีย (Oryza sativa) หลักฐานการค้นพบเมล็ดข้าว เถ้าถ่านในดินและรอบแกลบบนเครื่องปั้นดินเผา
     ที่โคกพนมดี อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี แสดงให้เห็นถึงชุมชนปลูกข้าวสมัยก่อนประวัติศาสตร์ชายฝั่งทะเล นอกจากนี้ยังพบหลักฐานคล้ายดอกข้าวป่าเมืองไทยที่ถ้ำเขาทะลุ จังหวัดกาญจนบุรี อายุประมาณ 2,800 ปีก่อนคริสต์ศักราช (อาจก่อนหรือหลังจากนั้นประมาณ 300 ปี) ซึ่งเป็นช่วงรอยต่อยุคหินใหม่ตอนปลายกับยุคโลหะตอนต้น ส่วนหลักฐานภาพเขียนบนผนังถ้ำหรือผนังหินอายุไม่น้อยกว่า 2,000 ปี ที่ผาหมอนน้อน บ้านตากุ่ม ตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี บันทึกการปลูกธัญพืชอย่างหนึ่งมีลักษณะเหมือนข้าว ภาพควายในแปลงพืชคล้ายข้าว อาจตีความได้ว่ามนุษย์สมัยนั้นรู้จักข้าวหรือการเพาะปลูกข้าวแล้ว ศาสตราจารย์ชิน อยู่ดี สรุปไว้เมื่อปี พ.ศ. 2535 ว่า "ประเทศไทย ทำนาปลูกข้าวมาแล้วประมาณ 5471 ปี ผลของการขุดค้นที่โนนนกทาสนับสนุนสมมติฐานที่ว่า ข้าวเริ่มปลูกในทวีบเอเชียอาคเนย์ ในสมัยหินใหม่ จากนั้นแพร่ขึ้นไปที่ประเทศอินเดีย จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี

ภาพเขียนที่ผนังถ้ำที่ผาแต้ม