พิธีกรรม ความเชื่อเกี่ยวกับข้าว

ประเทศไทย มีลักษณะของผู้คนที่อยู่อย่างกระจายไม่หนาแน่น ดังนั้น ลักษณะของความเชื่อที่พบในสังคมไทยจะไม่ได้มีลักษณะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในแง่ที่ว่าแต่ละภูมิภาคก็มีระบบความเชื่อของตัวเอง ภาคใต้มีวิธีการกำจัดหรือแก้ปัญหาเรื่องการทำนาของตัวเองแบบหนึ่ง ทางอีสานก็อีกแบบหนึ่ง ผู้ที่ปกครองบ้านเมืองจะทำอย่างไร จึงจะรวมหรือสร้างบูรณาการให้ผู้คนที่เต็มไปด้วยชนเผ่าต่างๆ ที่หลากหลายนี้ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ ก็จำเป็นต้องมีระบบความเชื่อที่มีอิทธิฤทธิ์ มีประสิทธิภาพที่สามารถจะเอาชนะหรือสร้างความเคารพยอมรับจากชนเผ่าต่าง ๆ ได้ เมื่อสังคมพัฒนาเป็นบ้านเป็นเมือง จนกระทั่งทุกวันนี้ลักษณะของพิธีกรรมเกี่ยวกับข้าวก็เป็นเรื่องที่ผสมผสานระหว่างพิธี ทั้งพุทธซึ่งมีการนิมนต์พระสงฆ์มาสวด ทำบุญทำทาน และก็มีพิธีพราหมณ์ ซึ่งเอาข้าวเข้ามาเพื่อสร้างความอลังการ ความศักดิ์สิทธิ์ ความน่าเชื่อถือให้กับราชสำนัก และพิธีกรรมอันนี้เองที่ส่งผลอิทธิพล และสะท้อนกลับไปยังความเชื่อของชาวบ้านอีกต่อหนึ่ง จะเห็นว่าพิธีกรรมเกี่ยวกับข้าวในปัจจุบันนี้ จะเป็นเรื่องราวความเชื่อที่ค่อนข้างผสมผสานกันระหว่างความเชื่อในเรื่องของผี ความเชื่อท้องถิ่น ความเชื่อในเรื่องพุทธศาสนาและศาสนาฮินดูด้วย

"แถน" เป็นเทพดั้งเดิมของชนเผ่าไท ผีที่มีอิทธิพลต่อการทำมาหากิน ต่อความเป็นอยู่ของผู้คน เพราะว่าเป็นผู้ที่สร้างทุกสิ่งทุกอย่างในโลกไม่ว่าจะเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ทุกอย่าง พระยาแถนเป็นผู้สร้าง อิทธิพลของพระยาแถนมีมากมายเหลือเกิน จึงทำให้ผู้คนกลัวมากและเมื่อมีปัญหาอะไรก็รู้ว่าสาเหตุที่จะปัดเป่าได้คือต้องไปขอให้พระยาแถนช่วย เพราะฉะนั้นพิธีที่สำคัญมากต่อการทำมาหากินและการปลูกข้าวของคนไทยหรือคนถิ่นไทยลาว คือ พิธีจุดบั้งไฟ เพื่อส่งสารไปถึงพระยาแถน ขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลพิธีกรรมในประเพณีจุดบั้งไฟ เป็นพิธีที่ไม่สามารถทำขึ้นโดยคนเพียงไม่กี่คน แต่เป็นเรื่องของคนทั้งชุมชนทั้งสังคมต้องให้ความร่วมมือ ร่วมใจกันที่จะแก้ปัญหาวิกฤตในสังคมตัวเองและบทบาทของพิธีกรรมนี้ไม่ใช่ เพียงแต่จะบันดาลให้ฝนตกมาได้ตามความเชื่อของท้องถิ่น แต่มีความหมายอีกมากมายต่อความเป็นอยู่ของชุมชนของสังคมข้าวในสังคมไทย พิธีกรรมมีความสำคัญต่อการสร้างจิตสำนึกความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การสร้างจริยธรรม คุณธรรมของท้องถิ่นโดยผ่านพิธีกรรมต่างๆ
 

พระแม่โพสพ                                                           ประเพณีบุญบั้งไฟ

นอกจากพิธีจุดบั้งไฟที่แสดงให้เห็นถึงความเดือดร้อนของผู้คน ที่จำเป็นต้องขออำนาจจากพระยาแถนช่วยเหลือแล้ว ความอ่อนน้อมของคนไทยที่มีต่ออำนาจเหนือธรรมชาติ จะเห็นได้จากการเรียกชื่อสิ่งที่มีความสำคัญต่าง ๆ ด้วยคำว่า แม่ เช่น ข้าวก็จะมีคำว่า "แม่โพสพ" เป็นเทพธิดาแห่งข้าว แม่นั้นเป็นผู้ให้กำเนิด เป็นผู้ที่มีบทบาทสูงที่สุดในครอบครัวและสิ่งที่มีคุณประโยชน์ทั้งหลายในสังคมไทยนั้น มักจะใช้คำว่าแม่เป็นคำเรียกชื่อไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำ แม่ธรณี ฯลฯ การใช้คำว่า "แม่" เรียกข้าวก็คือเป็นการให้การยกย่องมากที่สุด ข้าวมีความสำคัญก็เพราะว่าข้าวเป็นผู้ให้ชีวิตแก่มนุษย์ เพราะฉะนั้น หน้าที่ที่มนุษย์ต้องตอบแทนคือมนุษย์ต้องเลี้ยงดูฟูมฟักเลี้ยงดูข้าวด้วย ข้าวมีขวัญข้าว ซึ่งเหมือนกับมนุษย์ที่ยังมีชีวิตอยู่ ต้องมีขวัญ ขวัญนั้นสามารถที่จะกระทบกระเทือนเจ็บไข้ได้ป่วยหรือไม่พึงพอใจได้ เพราะฉะนั้นถ้าต้องการให้อยู่ดีมีสุข ต้องเอาอกเอาใจขวัญของข้าว

พิธีกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับข้าวก็จะเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับความเชื่อเรื่องแม่โพสพซึ่งเชื่อว่าเป็นเทพีที่คอยดูแลรักษาพืชพันธุ์ ธัญญาหารต่างๆ ให้อุดมสมบูรณ์ แม่โพสพก็เหมือนกับมนุษย์ที่ต้องการความเอาใจใส่เหมือนบุคคลทั่วๆ ไปมนุษย์ต้องคอยดูแลแม่โพสพเหมือนดูแลตัวเอง ต้องมีความกตัญญู ต้องเคารพนับถือ มีกิริยาที่สุภาพเรียบร้อยจะพูดจาหยาบคายหรือพูดเสียงดังไม่ได้ แม่โพสพเป็นคนขวัญอ่อนเพราะถ้าเกิดไม่พอใจจะหนีไปเลยและตามประวัติเคยหนีไปหลายครั้งด้วยความน้อยใจ เวลามีคนพูดเสียงดังพอหนีไปที ก็อดอยากกันเป็นพันปี เพราะฉะนั้นอันนี้ เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังมาก เวลาติดต่อกับแม่โพสพควรใช้ความสุภาพอ่อนโยน และความกตัญญูกตเวทีอย่างสูงที่สุด

พิธีกรรมเกี่ยวกับแม่โพสพ ก็มีขั้นตอนต่างๆ พิธีในภาคกลางจะเห็นว่าจะดำนา จะไถ อะไรก็ต้องเชิญแม่โพสพมาก่อน ตั้งแต่ข้าวเริ่มตั้งท้องก็ต้องไปเอาอกเอาใจหาอาหาร เปรี้ยวหวาน มันเค็ม ไปบูชาแม่โพสพ หรือว่าเมื่อเสร็จแล้วจะนวดจะเอาข้าวเข้ายุ้งทุกอย่างนี้จะต้องมีพิธีกรรมเข้าไปประกอบเพื่อก่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์หรือ ความมั่นใจว่าปีนี้มีข้าวและปีหน้าต้องมีนะ หรือว่าพันธุ์ข้าวที่มีต้องเก็บไว้และทำอย่างไรให้เก็บได้ดี ไม่เสียไม่หาย เพื่อที่จะใช้เป็น พันธุ์ในปีต่อไป ลักษณะของพิธีกรรมเรื่องข้าวส่วนใหญ่ก็จะเกี่ยวข้องกับการที่จะพยายามเอาอกเอาใจขวัญของข้าว โดยมีแม่โพสพเป็นตัวแทน

 

          ทำขวัญข้าว                                           ของไหว้แม่โพสพ                                   เฉลวขวัญข้าว

การทำพิธีกรรมเกี่ยวกับข้าว นอกจากในสังคมที่เป็นบ้านเป็นเมืองอย่างสังคมไทยแล้ว จะเห็นว่าในสังคมอื่นๆ ที่ยังไม่ได้พัฒนาเป็นบ้านเป็นเมือง การทำไร่ ทำข้าวไร่ ก็มีพิธีกรรมเหมือนกันในการที่จะดูแลข้าวของตัวเอง อย่างเช่นในกลุ่มชาวเขา เขาก็มีพิธีกรรมเวลาปลูกข้าวไร่ เขาจะมีวันที่วันไหนจะไปเผาไร่ได้ วันไหนเผาไม่ได้ เวลาข้าวตั้งท้องต้องรู้ว่าจะทำอย่างไร เขาถือว่าช่วงข้าวตั้งท้องหรือช่วงข้าวเกี้ยวพาราสี เขาจะบอกว่าห้ามไปไร่ในช่วงนั้น เพราะว่าข้าวกำลังเกี้ยวพาราสีกัน หรือเวลาข้าวตั้งท้องก็จะต้องหาเงินไปผูกเอาไว้ ต้องผูกเตี้ยๆ ด้วย เพราะว่าแม่ข้าวเขาตัวเตี้ย จะได้เก็บเงินไปได้ถ้าเกิดไม่เอาเงินหรือเอากระดาษไปผูกเป็นรูปเงินให้แล้ว อาจจะไม่ดลบันดาลให้ข้าวอุดมสมบูรณ์ก็ได้ ฉะนั้น ในกลุ่มทุกกลุ่มหรือแม้แต่พวกขิ่นก็มีความเชื่อเรื่องการปลูกข้าวเหมือนกัน

ก่อนการปลูกข้าว ก็มีการสร้างตูบผีเอาไว้ เชิญผีซึ่งเคยอยู่ที่ท้องนาขึ้นมาอยู่บนตูบ เวลาจะไถจะได้ไม่รังควานผี มีการเซ่นไหว้ เวลาจะหยอดข้าวก็ต้องเรี่ยไรเงิน มาซื้อหมูฆ่าหมูมาเซ่นผี มาเอาใจผีอีก เพราะว่าถ้าผีไม่พอใจปลูกข้าวแล้วจะมีผลเสีย หรือถ้าหากว่าจะทำสู่ขวัญข้าวก็ต้องทำพิธีเลี้ยงผีอีก ก็ต้องไปซื้อสัตว์เรี่ยไรกันเอาเงินมาฆ่าเอาสัตว์มาสังเวยและจะปิดตาเหลวเอาไว้ ตาเหลวเป็นสัญลักษณ์ของการป้องกันและบอกขอบเขต ไม่ให้สัตว์ป่าต่างๆ มาทำลายข้าวในไร่ จะเห็นว่ามีกฎหมายลงโทษคนที่ไปทำมิดีมิร้าย ไปขี้ไปเยี่ยว ช้าง ม้า วัว ควาย ไปละเมิดทำให้ไร่นาข้าวปลาเสียหาย มีกฎหมายบัญญัติไว้ว่า ให้ทำบัตรพลีดีไหว้หรือว่าต้องเซ่นไหว้ เพราะไม่ใช่เพียงแต่ว่าเป็นการลงโทษคนที่ละเมิดทำข้าวเสียหายเท่านั้น แต่ว่าเป็นลักษณะของความอุบาทว์หรือสิ่งที่ทางเหนืออาจเรียกว่า "ขึด" คือถ้าเผื่อว่าทำแล้วมันเสียหายแก่ท้องนาแก่ข้าวแล้วไม่ใช่เพียงแต่ว่าคนคนนั้นหรือเจ้าของนาจะเดือดร้อน แต่ว่าจะก่อให้เกิดความอุบาทว์หรือวิปริตไปทั้งหมดได้ เพราะฉะนั้นเพื่อกันความเสียหายของชุมชนจะต้องทำการบัตรพลีดีไหว้ อันนี้เป็นกฎหมายตราไว้เลย